วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2553

ความรักต่อพ่อแม่

ครอบครัว คือ สถาบันมูลฐานของมนุษยชาติ เป็นหน่วยขนาดเล็กที่สุดของสังคม เป็นผู้สร้างและกำหนดสถานภาพ สิทธิ หน้าที่ของบุคคลอันพึงปฏิบัติต่อกันในสังคม เป็นสถาบันแห่งแรกในการถ่ายทอดวัฒนธรรมและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพ ของสังคมและประเทศชาติ

ความหมายของครอบครัว

ครอบครัว หมายถึง องค์กรที่มีขนาดเล็กที่สุดในสังคม ประกอบด้วยบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันทางสายโลหิตหรือทางกฎหมาย โดยการสมรสหรือการรับรองบุตรเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งได้แก่ พ่อ แม่ บุตรและญาติพี่น้อง

ประเภทของครอบครัว

ครอบครัวในสังคมต่าง ๆ ย่อมมีโครงสร้างและลักษณะแตกต่างกันไป ซึ่งถ้าจะแบ่งครอบครัวเป็นประเภทใหญ่ ๆ เพื่อสะดวกในการศึกษาจะแบ่งได้เป็น 2 ประเภท

ครอบครัวเดี่ยวหรือครอบครัวเฉพา

ประกอบด้วยบิดา มารดาและบุตรเท่านั้น ซึ่งสมาชิกในครอบครัวจะมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด คือทั้งทางสายโลหิตและทางกฎหมาย (การรับจดทะเบียนบุตรเป็นบุตรบุญธรรม) ขนาดของครอบครัวขึ้นอยู่กับจำนวนบุตรที่ถือกำเนิดจากบิดา มารดา ถึงแม้จะมีการรับบุตรบุญธรรมบ้าง ก็มีจำนวนไม่มาก สังคมสมัยใหม่ทั่วไปมักมีครอบครัวประเภทนี้เป็นจำนวนมาก จนมีผู้กล่าวว่าสังคมใดมีความเจริญทางอุตสาหกรรมและการค้า ครอบครัวในสังคมนั้นจะเป็นครอบครัวเดี่ยวหรือครอบครัวเฉพาะเป็นส่วนใหญ่

ครอบครัวขยายหรือครอบครัวเสริม

ครอบครัวประเภทนี้มีพื้นฐานจากครอบครัวเดิมมาจากครอบครัวเฉพาะ ซึ่งสมาชิกประกอบด้วย บิดา มารดา และบุตร นอกจากนี้ยังมีญาติพี่น้องอื่น ๆ เป็นสมาชิกอาศัยร่วมอยู่ด้วย ซึ่งอาจจะเป็น ปู่ ย่า ตา ยาย หรือ ลุง ป้า น้า อา และอาจจะมีหลานร่วมด้วย ครอบครัวขยายจึง มีสมาชิกมากกว่าครอบครัวเฉพาะ นอกจากครอบครัวขยายหรือครอบครัวเสริมมีความแตกต่างกับครอบครัวเดี่ยวหรือ ครอบครัวเฉพาะในเรื่องของสมาชิกแล้ว ความสัมพันธ์และโครงสร้างระหว่างสมาชิกก็มีความแตกต่างกันด้วย

ในสมัยก่อนครอบครัวของสังคมไทยมีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย หรือครอบครัวเสริมเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เนื่องจากการดำรงชีวิตของคนไทยในอดีต เป็นสังคมเกษตรกรรม ต้องอาศัยแรงงานจากครอบครัวในการทำเกษตร แต่ปัจจุบันของคนไทยเปลี่ยนแปลงและมีความหลากหลายอาชีพ ทำให้ครอบครัวขยายหรือครอบครัวเสริมมีมากขึ้นเช่นกัน แต่ข้อดีของครอบครัวขยายหรือครอบครัวเสริมที่ น่าสนใจเมื่อเปรียบเทียบกับครอบครัวเดี่ยวหรือครอบครัวเฉพาะ เนื่องจากในสังคมไทยปัจจุบันสามีภรรยามักออกทำงานนอกบ้านทั้งคู่ ลูกจ้างที่ต้องเลี้ยงดูบุตรที่ยังเล็กอยู่หาได้ยากหรืออาจได้ลูกจ้างที่ ไม่เหมาะสม ซึ่งมีผลทำให้บุตรเจริญเติบโตมาด้วยความว้าเหว่ ขาดความอบอุ่น ถ้ามีญาติผู้ใหญ่อาศัยอยู่ด้วยแบบครอบครัวขยายหรือครอบครัวเสริมก็สามารถ ดูแลให้การอบรมคุณธรรม จริยธรรม ด้วยความรักความเอาใจใส่ ทำให้บุตรเจริญเติบโตเป็นคนดี มีคุณธรรม เป็นพลเมืองที่ดีของสังคมและประเทศชาติ ซึ่งบิดาและมารดาที่มีภาระหน้าที่พิเศษทางสังคมเป็นจำนวนมากไม่สามารถทำได้

ความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัว

แต่ละครอบครัวทั้งครอบครัวขยายและครอบครัวเดี่ยวมีสมาชิกอาศัยและปฏิบัติ กิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน สมาชิกในครอบครัวจึงมีความสัมพันธ์กันในด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

สามีและภรรยา

มีความสัมพันธ์บนพื้นฐานความต้องการทางเพศของมนุษย์ คือ การมีเพศสัมพันธ์ ความรับผิดชอบร่วมกันในด้านต่าง ๆ เช่น การดูแลบุตรหรือผู้สูงอายุในครอบครัว การให้ความช่วยเหลือญาติพี่น้องของทั้งสองฝ่ายตามสมควร โดยเฉพาะความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ การหารายได้สู่ครอบครัว การร่วมกันคิดตัดสินใจในค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของครอบครัวและการให้ความรักความอบอุ่น ทางด้านจิตใจซึ่งกันและกัน

พ่อ แม่และลูก

ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ แม่กับลูกนั้น มีตั้งแต่ลูกเกิด พ่อแม่มีหน้าที่ให้การเลี้ยงดูส่งเสริมการเรียนและส่งเสริมสุขภาพ ส่วนลูกก็มีหน้าที่ศึกษาค้นคว้าหาความรู้ในสังคมไทย พ่อแม่จะดูแลลูกเมื่อลูกยังเด็ก และเมื่อลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะมาดูแลพ่อแม่อีกที

พี่น้อง

จะมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดเพราะว่าเติบโตมาด้วยกันอยู่ในครอบ ครัวเดียวกัน มีความรัก ความอบอุ่นร่วมกัน พี่น้องจึงมักให้การช่วยเหลือกันในด้านต่าง ๆ อยู่เสมอ เช่น ด้านเศรษฐกิจ ด้านการงาน เป็นต้น

เครือญาติ

เป็นสถานะของครอบครัวที่มีการขยายหรือกระจายกว้างขวางออกไป เช่น ญาติฝ่ายสามี ญาติฝ่ายภรรยาหรือกรณีนามสกุลเดียวกัน ความช่วยเหลือหรือความสัมพันธ์ต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับ ความสนิทสนมในการไปมาหาสู่ซึ่งกันและกัน หากสนิทกันมากก็จะให้ความช่วยเหลือกันเช่นเดียวกับ พี่น้อง

บทบาทหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัว

หน้าที่ของบุคคลที่มีต่อครอบครัว สมาชิกในครอบครัวเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค การช่วยเหลือซึ่งกันและกันในครอบครัวเป็นบทบาทหน้าที่ที่สมาชิกแต่ละคนพึง ปฏิบัติ ดังนี้

หน้าที่ของบิดา

บิดามารดาเป็นหัวหน้าครอบครัวมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อตนเองและ ต่อสมาชิกทุกคนในครอบครัว เป็นผู้ที่มีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการดำเนินชีวิตของสมาชิกทุกคนในครอบครัว บิดามารดาที่ดีควรปฏิบัติหน้าที่ดังต่อไปนี้

  1. ประกอบอาชีพในทางสุจริตด้วยความขยันหมั่นเพียรเพื่อหาทรัพย์สินมา ใช้จ่ายสร้างประโยชน์และความสุขให้กับสมาชิกในครอบครัว โดยไม่ก่อหนี้สินและใช้จ่ายอย่างประมาณตน
  2. รู้จักวางแผนการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ในครอบครัว เช่น รู้จักเก็บออมไว้ใช้จ่ายยามจำเป็น เช่น ค่าเล่าเรียนบุตร ค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกในครอบครัว เป็นต้น
  3. เป็นแบบอย่างที่ดีต่อบุตร ในด้านความประพฤติและปฏิบัติตนในทางที่เหมาะสม อย่างสม่ำเสมอ
  4. ดูแลทุกข์สุขและให้ความอบอุ่นต่อตนเองและแก่บุตร เป็นที่พึ่งของบุตรรวมทั้งมอบทรัพย์สมบัติให้เมื่อถึงโอกาสอันควร
  5. รับผิดชอบในด้านการศึกษาของบุตรโดยสนับสนุนให้ศึกษาเล่าเรียนตาม ความสามารถและสติปัญญาของบุตรอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อบุตรจะได้มีวิชาความรู้นำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้
  6. อบรมสั่งสอนบุตรให้เป็นคนดี มีคุณธรรม มีวินัยในการดำรงชีวิตดังนี้

- อธิบายให้บุตรเชื่อมั่นในการทำความดี มีหลักยึดเหนี่ยวจิตใจ

- โน้มน้าวให้บุตรประพฤติดีงาม สุจริต รู้จักเลี้ยงชีวิต มีวินัย มีกิริยามารยาทอันดีงาม

- ปลูกฝังเจตคติที่ดีในการศึกษาหาความรู้เพื่อปรับปรุงชีวิตให้มีหลักฐานมั่นคง

- อบรมสั่งสอนให้บุตรให้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โอบอ้อมอารี สร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับตนเองและสังคมในโอกาสต่าง ๆ ตามความเหมาะสม

หน้าที่ของสามีภรรยา

สามีภรรยาควรมีบทบาทและหน้าที่ดังนี้

  1. มีความสนใจในแนวทางเดียวกัน มีจิตใจหนักแน่น ปรับตัวเข้าหากัน
  2. เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โอบอ้อมอารี ใจกว้าง เสียสละ พร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูล ซึ่งกันและกัน
  3. รู้เหตุผล เข้าใจกัน ไม่ขัดแย้งอย่างไม่มีเหตุผล และไม่ยึดเหตุผลของตนเองเพียงฝ่ายเดียว
  4. เอาใจใส่และห่วงใยซึ่งกันและกัน เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุขในทุกโอกาส พยายามเข้าใจในคามรู้สึก ความต้องการและสภาพปัญหาของแต่ละฝ่าย
  5. ยกย่องซึ่งกันและกัน ไม่ดูหมิ่น ไม่นอกใจคู่สมรส

วันครอบครัว

สืบเนื่องจากคณะกรรมาธิการกิจการสตรีและเยาวชน สภาผู้แทนราษฎร ได้สรุปผลการศึกษาเรื่องปัญหาเด็กและเยาวชนว่า ปัญหาครอบครัวในปัจจุบัน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาสังคมต่างๆ ขึ้น จึงเห็นสมควรจัดให้มี “วันแห่งครอบครัว” ขึ้น เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักในความสำคัญของครอบครัว และช่วยกันสร้างครอบครัวให้เกิดความอบอุ่น ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง

ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๓๒ อนุมัติในหลักการตามข้อเสนอของคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายสังคม ที่จะกำหนดให้ “วันแห่งครอบครัว” ขึ้น ส่วนการกำหนดให้วันใดเป็นวันแห่งครอบครัวและมีกิจกรรมใดบ้างนั้น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์) ในขณะนั้น ได้นำกราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมรตรี ( พลเอกชาติชาย ชุณหวัณ ) เพื่อพิจารณาอนุมัติและนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อรับทราบ พร้อมทั้งให้ถือเป็นมติคณะรัฐมนตรี โดยกำหนดให้วันที่ ๑๔ เมษายน ของทุกปี เป็นวันแห่งครอบครัว

เหตุที่รัฐบาลได้กำหนดให้ วันที่ ๑๔ เมษายน เป็นวันครอบครัว เนื่องจากวันที่ ๑๓ เมษายน เป็นวันสงกรานต์ตามประเพณีไทย ซึ่งในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ประชาชนส่วนใหญ่จะเดินทางกลับไปสู่ครอบครัว









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น